หลักสูตรครุบัณฑิต : สาขาศิลปศึกษา

สาขาวิชา ศิลปศึกษา
ชื่อหลักสูตร หลักสูตรครุบัณฑิต
ชื่อปริญญา ครุศาสตร์บัณฑิต (วิชาเอกศิลปศึกษา)
หลักสูตร 4 ปี

ความสำคัญของหลักสูตร

หลักสูตรสาขาศิลปศึกษา เป็นศาสตร์และศิลป์ในการผลิตครูชั้นวิชาชีพ ที่มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ในงานศิลปะ ส่งเสริมการศึกษาปละพัฒนาความรู้ความสามารถ โดยประกอบวิชาชีพครู เป็นศาสตร์ที่สามารถบูรณาการศิลปวัฒนธรรม และขบนบธรรมเนียมประเพณีทางสังคมและท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน บทบาทของครูศิลปะในโรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมจนถึงชั้นมัธยมจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้และทักษะจากครูที่จบทางด้านศิลปะโดยตรงเพื่อให้ กระบวนการเรียนรู้ทางด้านความงามไปสู่เป้าหมาย และความสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

หลักสูตรสาขาวิชาศิลปศึกษา ผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรี 4 ปี ในระดับอุดมศึกษา เพื่อให้ไปประกอบอาชีพครูศิลปะโดยตรง กระบวนการเรียนการสอนจึงเต็มไปด้วยความเข้มข้นทั้งภาคทฤษฎีที่เป็นวิชาชีพครู และทฤษฎีทางศิลปะ ที่ประกอบไปด้วยเนื้อหาสาระที่สำคัญ 4 แกนด้วยกันคือ 1. ประวัติศาสตร์ศิลปะ (Art History) 2. ศิลปวิจารณ์ (Art Criticism) 3. สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) 4. ศิลปะปฏิบัติ (Art Skill) บัณฑิตสาขาศิลปศึกษา จึงต้องพร้อมไปด้วยความรู้ความสามารถในทางศิลปะเพื่อสอนนักเรียนในแต่ละช่วงชั้นตามพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ และสังคม ดังวิสัยทัศน์ของหลักสูตรสาขาที่ “เก่งสร้างสรรค์ เชี่ยวชาญงานศิลป์ รักษ์ท้องถิ่น ตามวิถีพุทธทาส”

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชานี้สามารถประกอบอาชีพ ดังนี้

  1. เป็นครูสอนศิลปะในชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และอาชีวศึกษาในหน่วยงานของรัฐ เอกชน
  2. เป็นครูสอนศิลปะอิสระ เช่น โรงเรียนกวดวิชาทางศิลปะ
  3. สามารถประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับธุรกิจทางศิลปะ เช่น ทำป้าย ออกแบบกราฟิก สื่อสิ่งพิมพ์ โฆษณา การทำบาติก การทำมัดย้อม ออกแบบเว็ปสินค้าออนไลน์ ศิลปินอิสระ ช่างเขียน ฯลฯ เป็นต้น เพื่อประโยชน์เสริมรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชน

คุณสมบัติเฉพาะสาขาวิชา

  1. เป็นผู้กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ เทียบเท่า ปวช./อาชีวะ ทางด้านศิลปะและสาขาที่เกี่ยวข้อง
  2. ผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) 4 ภาคเรียน ไม่ต่ำกว่า 2.50
  3. ผลการเรียนเฉลี่ยรายวิชาศิลปะ (GPA) 4 ภาคเรียนไม่ต่ำกว่า 3.00
  4. มีผลงานโดดเด่นทางด้านศิลปะ เช่น ผ่านเวทีหรือได้รับรางวัลในการประกวดแข่งขันวาดภาพ/ทักษะทางวิชาการ/ศิลปหัตถกรรมมาแสดง
  5. ผ่านกระบวนการสนทนากลุ่ม (Focus Group)
  6. ผ่านการสอบข้อเขียนเพื่อวัดแววความเป็นครู
  7. ผ่านการสอบสัมภาษณ์