หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต : สาขาวิชาธุรกิจเกษตร

สาขาวิชา ธุรกิจเกษตร
ชื่อหลักสูตร หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต  สาขาวิชาธุรกิจเกษตร
ชื่อปริญญา บริหารธุรกิจบัณฑิต (ธุรกิจเกษตร)
หลักสูตร 4 ปี

ความสำคัญของหลักสูตร

ภาคเกษตรมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก ก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร เป็นฐานวัตถุดิบให้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ อีกทั้งยังสร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาลและก่อให้เกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันภาคเกษตรของไทยต้องเผชิญกับการเติบโตของกระแสโลกาภิวัตน์ ภาวะโลกร้อนและภาวะการขาดแคลนอาหารของโลก ขณะที่ปัญหาหลักของภาคเกษตร คือ การขาดการบริหารจัดการด้านการวางแผนการผลิตและการตลาด ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีการดูแลรักษาทรัพยากรการเกษตรควบคู่กันไปด้วย

คณะวิทยาการจัดการได้เล็งเห็นความสำคัญของภาคเกษตรว่าเป็นงานที่สร้างความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการด้านการเกษตรจึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเกษตรให้ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม จึงได้ออกแบบหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาวิชาธุรกิจเกษตรขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผสานองค์ความรู้ด้านการเกษตรเข้ากับธุรกิจ หลักสูตรนี้นักศึกษาจะมีโอกาสเรียนรู้จากบุคลากรมืออาชีพที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจเกษตรมายาวนานโดยจะจัดให้นักศึกษามีการศึกษาดูงานในรายวิชาต่าง ๆ ดังนี้ รายวิชาการประยุกต์ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สำหรับธุรกิจเกษตร เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรยั่งยืน การตลาดธุรกิจเกษตรและตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า เศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการแปรรูปสินค้าเกษตร นวตกรรมเกษตร การจัดการฟาร์ม ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่ การค้าสินค้าเกษตรและข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีโอกาสให้นักศึกษาไปปฏิบัติงานจริงเต็มเวลาในสถานประกอบการตามรูปแบบของสหกิจศึกษา

หลักสูตรนี้ได้เน้นบูรณาการศาสตร์ต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งด้านการเกษตรวิทยาศาสตร์เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ ร่วมกับองค์ความรู้ด้านนวตกรรมเกษตรเพื่อพัฒนาเป็นหลักสูตรที่มีความทันสมัย และตรงกับความต้องการของท้องถิ่น นักศึกษาจะได้เรียนรู้ธุรกิจเกษตรที่ทันสมัย โดยเรียนควบคู่ไปกับวิชาพื้นฐานทางด้านการจัดการธุรกิจ เช่น ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ การจัดการฟาร์ม กฎหมายและมาตรฐานการเกษตร สารสนเทศเพื่อการจัดการธุรกิจเกษตร บัญชี การเงินและการตลาด เป็นต้น

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชานี้สามารถประกอบอาชีพ ดังนี้

 

  1. ผู้ประกอบการด้านธุรกิจเกษตร
  2. นักธุรกิจเกษตร เช่น ธุรกิจส่งออกนำเข้าสินค้าเกษตร และธุรกิจสินค้าเกษตรในท้องถิ่น
  3. พนักงานในภาคธุรกิจเอกชนที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านธุรกิจเกษตร เช่น ธุรกิจ

อุตสาหกรรมการเกษตร ธนาคาร การขนส่งสินค้าเกษตร และธุรกิจประกันภัยสินค้าเกษตร

  1. เจ้าหน้าที่ของภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม

และกระทรวงพาณิชย์

  1. นักบริหารงานการเกษตร ในหน่วยงานองค์การบริหารส่วนตำบล
  2. นักวิชาการเกษตร
  3. ผู้จัดการฟาร์มเกษตร